'ภูมิรัฐศาสตร์' กดดันส่งออก ‘สรท.-หอการค้า’ หวั่นฉุดคำสั่งซื้อไตรมาส 3

18 เมษายน 2567
'ภูมิรัฐศาสตร์' กดดันส่งออก   ‘สรท.-หอการค้า’ หวั่นฉุดคำสั่งซื้อไตรมาส 3

สรท.คาดส่งออกไทยครึ่งปีหลังยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก จับตาสงครามตะวันออกกลางกระทบส่งออกไตรมาส 3 เชื่อทั้งปีขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 1-2% ขณะที่ “พาณิชย์” เร่งกลยุทธ์ดันส่งออก 5 แนวทาง เปิดประตูการค้าใหม่ เร่งทำเอฟทีเอ ดันซอฟพาวเวอร์ เศรษฐกิจหมุนเวียน

การส่งออกสินค้าในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 มีปัจจัยเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อมาจากปี 2566 ที่อาจมีผลต่อต่อราคาพลังงานและค่าระวางเรือที่เป็นเส้นทางขนส่งสำคัญระหว่างเอเชียและยุโรป

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เหตุการณ์โจมตีระหว่างอิหร่าน-อิสราเอล ที่แม้จะสงบลงแต่ต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะหากมีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้นย่อมกระทบการส่งออกของไทยไปตะวันออกกลาง อีกทั้งต้องดูว่าจะกระทบต่อการขนส่งทางทะเลผ่านเส้นทางทะเลแดงหรือไม่

ขณะนี้กังวลและเป็นห่วงต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะตลาดตะวันออกกลางเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยที่กำลังเติบโตดีต่อเนื่องมีสัดส่วนส่งออก 5-7% ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย โดยมี 2 ประเด็นที่น่าต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ

1.ผลกระทบต่อการส่งออกของไทย แม้ยังไม่กระทบเพราะสินค้าคำสั่งซื้อในไตรมาส 2 ได้สรุปเสร็จแล้ว รวมทั้งหลังเทศกาลรอมฎอนสิ้นสุดวันที่ 10 เม.ย.2567 เริ่มมีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบการส่งออกของไทยระยะต่อไป คาดว่าคำสั่งซื้อสินค้าจะค่อยๆ ลดลง

นอกจากนี้หากสถานการณ์ปลายปลายมีการโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดงและมีการหยุดเดินเรือ จะทำให้สถานการณ์กลับมาเหมือนช่วงปลายปี 2566 ซึ่งจะกระทบการขนส่งสินค้าไปยุโรปและประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

2.ราคาน้ำมันที่อาจปรับสูงขึ้น ปัจจุบันราคาน้ำมันเคลื่อนไหวแตะ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะสูงขึ้นอีก ซึ่งจะกระทบต้นทุนธุรกิจ แต่ยังประเมินว่าไม่น่าจะแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะเศรษฐกิจยังชะลอตัวและภาคการผลิตในประเทศสำคัญยังไม่ฟื้นเท่าที่ควรทำให้ความต้องการใช้น้ำมันไม่เพิ่มขึ้นมาก

“ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากรุนแรงขยายวงกว้างน่ากังวลการส่งออกไทยต่อเนื่องถึงไตรมาส 3 โดยเดือน เม.ย.-พ.ค.การส่งออกของไทยยังไปได้ดีเพราะสรุปคำสั่งซื้อไปแล้ว จึงหวังว่าสถานการณ์จะยุติโดยเร็ว และขณะนี้ผลกระทบยังอยู่ในตะวันออกกลาง แต่หากยังไม่ยุติ กลับรุนแรงขยายวงกว้าง จะกระทบการส่งออกไทยในตลาดที่อยู่ใกล้เคียงได้” นายชัยชาญ กล่าว

สำหรับสถานการณ์ค่าระวางเรือหลังเหตุโจมตีล่าสุดเท่าที่ตรวจสอบพบว่า ค่าระวางเรือยังคงปกติและยังไม่ได้รับรายงานหยุดเดินเรือในพื้นที่ดังกล่าว แต่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไปเพราะคาดเดาได้ยาก

ทั้งนี้ สรท.ได้จับตาสถานการณ์เป็นพิเศษและประเมินเป็นระยะ และหากมีผลกระทบจะหารือกระทรวงพาณิชย์เพื่อหาแนวทางทางลดผลกระทบ

นอกจากนี้ ค่าระวางเรือในปัจจุบันถือว่าเข้าอยู่ภาวะปกติหลังจากมีวิกฤติในทะเลแดง บริเวณช่องแคบบับ อัล-มันเดบ ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าหลักไปทวีปยุโรปและตะวันออกกลาง ซึ่งค่าในช่วงปลายปี 2566 ส่งผลให้ค่าระวางเรือสูงขึ้น 4-5 เท่าหรือประมาณ 4,000-5,000 ดอลลาร์ ต่อตู้ขนาด 20 ฟุต

ทั้งนี้ ที่ยังไม่รวม Surcharge อีกประมาณ 1,000 ดอลลาร์ ต่อตู้ขนาด 20 ฟุต ปัจจุบันราคาค่าระวางปรับลดลง 1-2 เท่า หรือประมาณ 2,000 ดอลลาร์ ต่อตู้ขนาด 20 ฟุต ซึ่งช่วยผ่อนคลายต้นทุนของผู้ประกอบการส่งออกได้ในระดับหนึ่ง


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.